นกเขาไม่ขัน (Erectile Dysfunction) หรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย คือ ภาวะที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้ตามปกติ ซึ่งเกิดได้จากทั้งสาเหตุทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น โรคหลอดเลือด ภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย โรคเครียด รวมไปถึงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือการใช้ยาบางชนิด
เมื่อมีอารมณ์ทางเพศหรือถูกสัมผัสโดยตรงที่อวัยวะเพศ เลือดอาจไหลมาหล่อเลี้ยงบริเวณอวัยวะเพศเพิ่มขึ้น และทำให้อวัยวะเพศชายเกิดการแข็งตัว เมื่อการไหลเวียนของเลือดที่มาหล่อเลี้ยงอวัยวะเพศไม่ดี อาจส่งผลให้เกิดปัญหานกเขาไม่ขันได้ นกเขาไม่ขันสามารถเกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งการรักษาอย่างเหมาะสมอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้
อาการของนกเขาไม่ขัน เมื่อมีอาการนกเขาไม่ขัน ผู้ที่มีอวัยวะเพศชายอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งบ่อย ๆ ดังนี้
- อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้
- อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์
- ความต้องการทางเพศลดลง
- มีปัญหาในการสำเร็จความใคร่
อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการของนกเขาไม่ขันหรือภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- มีความกังวลหรือรู้สึกสงสัยว่าตนเองมีภาวะนกเขาไม่ขันหรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- พบว่าตนเองมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับเพศ เช่น มีปัญหาในการหลั่งน้ำอสุจิเร็วหรือช้าเกินไป
- เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของภาวะนกเขาไม่ขัน เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน รวมไปถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
สาเหตุของนกเขาไม่ขัน แบ่งได้เป็นสาเหตุทางด้านร่างกาย และสาเหตุทางด้านจิตใจ ดังนี้
สาเหตุทางด้านร่างกาย นกเขาไม่ขันส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคอ้วน ภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย หรือโรคพาร์กินสัน นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดได้จากผลข้างเคียงจากการรักษาโรคหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า หรือยาแก้แพ้ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้าหนัก ร่างกายอ่อนล้า หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ ก็อาจส่งผลให้นกเขาไม่ขันได้เช่นเดียวกัน
สาเหตุทางด้านจิตใจ สมองมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นทำให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย หรือกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ ซึ่งภาวะทางจิตใจบางอย่างที่ไปขัดขวางหรือส่งผลด้านลบต่ออารมณ์ทางเพศ ได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือภาวะสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น การมีปัญหาความขัดแย้งหรือปัญหาความสัมพันธ์กับคู่ของตน
ภาวะแทรกซ้อนของนกเขาไม่ขัน
โดยปกติแล้วภาวะนกเขาไม่ขันมักไม่รุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่อาจส่งผลทางด้านจิตใจและความสัมพันธ์ เช่น
- อาจทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวล หากอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง
- หากได้รับประสบการณ์ทางเพศที่ไม่ดี อาจนำมาสู่ความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียความมั่นใจหรือเกิดความไม่สบายใจ
- อาจทำให้มีปัญหาความขัดแย้งหรือปัญหาความสัมพันธ์กับคู่รัก ทั้งเรื่องความสุขสมในการมีเพศสัมพันธ์หรือปัญหาเนื่องจากการไม่สามารถมีบุตรได้
การป้องกันนกเขาไม่ขัน
การป้องกันนกเขาไม่ขันสามารถเริ่มต้นด้วยตนเองง่าย ๆ ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชายได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ และพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดสม่ำเสมอ
เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น เช่น เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเครียด นอกจากนี้ ผู้มีภาวะทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีปัญหาทางสุขภาพจิตอื่น ๆ ควรติดต่อเข้ารับการบำบัดรักษาทางจิต เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที