ประจำเดือน ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงสุขภาพในการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงทุกคน ซึ่งการที่ประจำเดือนไม่มา หรือมาแบบผิดปกติ อาจมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไปตามร่างกาย และสุขภาพของแต่ละบุคคล โดยสามารถแบ่งสาเหตุได้ ดังนี้
- วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 45 – 55 ปี เนื่องจากระดับฮอร์โมนเริ่มลดลง ทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ หรือ ไม่ตกเลย
- น้ำหนักเพิ่ม หรือ ลดมากเกินไป โดยสำหรับผู้ที่น้ำหนักตัวน้อยจะมีไขมันน้อย ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตก ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด รักษาทางจิตเวช ยาต้านชิมเศร้า ทำเคมีบำบัด ยารักษาความดันโลหิตสูง และสารเสพติดอื่น ๆ เป็นต้น โดยในบางรายอาจเกี่ยวข้องกับการที่อวัยวะสืบพันธุ์มีความผิดปกติ เช่น เนื้องอก หรือการติดเชื้อที่มดลูก ภาวะพังผืดในโพรงมดลูก เป็นต้น
- ปัญหาไข่ไม่ตก ส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน เรื่องงาน หรือเรื่องอื่น ๆ
- ความผิดปกติของฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานรังไข่ ที่พบบ่อย ๆ ก็คือ ฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนต่อมใต้สมองหรือว่าฮอร์โมนน้ำนม
- ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังในผู้หญิง จากภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือว่า Olycystic Ovary Syndrome (PCOS) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยจากการทำงานที่ผิดปกติของตัวรังไข่เอง พบได้ในผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- อาการเลือดออกที่ผิดปกติ มีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น มดลูกอักเสบ ปากมดลูกอักเสบ ติ่งเนื้อปากมดลูก หรืออาจเกิดจากการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดแบบไม่สม่ำเสมอ เช่น ลืมกินยาคุมกำเนิดในบางวัน จึงอาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยระหว่างรอบเดือน ทำให้บางคนเข้าใจว่ามันคือประจำเดือน ทั้งที่อาจเป็นอาการเลือดออกที่ผิดปกติ
ประจำเดือนไม่มา บ่งบอกสัญญาณสุขภาพของเรื่องอะไรได้บ้าง
1. เกิดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ : Polycystic Ovarian Syndrome (PCOS) เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อที่พบบ่อยในผู้หญิงช่วงอายุ 18-45 ปี เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนหลายตำแหน่งรวมทั้งที่รังไข่ ทำให้มีฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ อาการแสดงของฮอร์โมนเพศชายเกิน เช่น หน้ามัน สิวขึ้นง่าย ขนดก ฯลฯ
2. รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ผู้ที่ประจำเดือนไม่มาจากสาเหตุนี้สามารถรักษาด้วยยาคุมกำเนิดแบบเม็ด หรือกลุ่มยาฮอร์โมนทดแทน
วิธีการดูแลตัวเอง เมื่อพบว่าประจำเดือนไม่มา
- ลดภาวะเครียด ที่อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ
- พักผ่อนให้เพียงพอ สร้างความรู้สึกผ่อนคลายให้กับร่างกาย และจิตใจ
- เลือกรับประทานอาหารให้ครบถ้วนและตามสัดส่วนที่เหมาะสม
- รักษาน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยหมั่นตรวจเช็กค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น
สำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนไม่มา หรือมาแบบไม่ปกติ โดยมีลักษณะอาการที่เปลี่ยนไปจากเดิม ควรเข้าพบสูตินรีแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอาการ และโรคให้ถูกต้อง เพื่อทำการรักษาต่อไป