มะเร็งชนิดนี้เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก โดยเซลล์จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งขนาด รูปร่าง และองค์ประกอบ ซึ่งนำไปสู่รอยโรคที่แทรกซึมทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง และสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ผ่านระบบหลอดเลือดและน้ำเหลือง
สาเหตุหลัก
สาเหตุของโรคนี้ส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human papillomavirus) ซึ่งมีสายพันธุ์ที่เสี่ยงสูง เช่น สายพันธุ์ 16 และ 18 นอกจากนี้ยังมีไวรัสตัวอื่นๆ เช่น HSV-2 (Herpes Simplex Virus Type 2) ที่อาจเป็นปัจจัยเสริมต่อการเกิดมะเร็ง รวมถึงเชื้ออื่นๆ เช่น Trichomonas, เชื้อหนองใน และเชื้อซิฟิลิส
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
• อายุ
• มีคู่นอนหลายคนหรือคู่นอนที่เสี่ยงสูง
• มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
• ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
• การมีบุตรหลายคน
• การใช้ยาคุมกำเนิด
• การสูบบุหรี่
อาการที่แสดง
อาการที่แสดงที่อาจพบในผู้ป่วย จะเริ่มด้วยอาการของมะเร็งในระยะก่อนลุกลามจนถึงในระยะลุกลาม ดังนี้
• ไม่มีอาการอะไร มักพบในระยะก่อนลุกลาม เนื่องจากพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นยังไม่รุนแรง มีขนาดเล็ก ยังไม่มีการติดเชื้อหรือมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก
• มีตกขาวเป็นมูกใส
• เลือดออกผิดปกติ ระยะเริ่มต้นอาจมาด้วยอาการมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดเป็นหยดๆ ในขณะหรือหลังการร่วมเพศ อาจเกิดจากแผลถลอกที่ปากมดลูก
• จากการตรวจภายใน จะไม่มีลักษณะเฉพาะ อาจพบการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกลักษณะหนึ่งคือ
– ปากมดลูกที่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือเคยมีบุตรมาแล้ว
– ปากมดลูกที่แสดงถึงการอักเสบเรื้อรัง
– ปากมดลูกที่มีแผลถลอก (erosion)
• ตกเลือด: สำหรับผู้ป่วยในระยะลุกลาม อาจมาด้วยอาการเลือดออกมากทางช่องคลอด มีอาการซีด อ่อนเพลีย บางรายถ้ามีการติดเชื้อร่วมด้วยจะมีลักษณะเป็นเลือดปนหนองและมีกลิ่นเหม็น
• อาการปวด: มักจะเกิดในระยะท้ายที่โรคเป็นมากและลุกลามไปไกล บางรายมีอาการปวดท้องน้อย เนื่องจากมีการอักเสบของปากมดลูกจนเกิดการอักเสบของหลอดเลือดดำในอุ้งเชิงกราน (pelvic thrombophlebitis) หรือหลอดน้ำเหลืองอักเสบ (lymphangitis)
การป้องกัน
สามารถรักษาให้หายขาดได้ถ้าพบในระยะเริ่มแรก แต่การป้องกันไม่ให้เป็น เป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยทั่วไปมีวิธีการป้องกัน 3 ระดับดังนี้:
1. การป้องกันระดับปฐมภูมิ คือการป้องกันโดยการหลีกเลี่ยงการได้รับสารก่อมะเร็ง และการลดหรือขจัดสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก โดยการหลีกเลี่ยงสาเหตุนั้นๆ ได้แก่
• การงดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงจากบริเวณที่มีควันบุหรี่
• การคุมกำเนิดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ห่วงอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิด และยาฉีดคุมกำเนิด
• การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุยังน้อย การมีบุตรมาก หรือการสำส่อนทางเพศและการมีคู่นอนหลายคน
• ดูแลรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศอยู่เสมอ
• ละเว้นต่อการสัมผัสสารก่อมะเร็ง (chemical factors)
2. การป้องกันระดับทุติยภูมิ คือการค้นหามะเร็งในระยะเริ่ม โดยใช้วิธีการตรวจทางเซลล์วิทยา วิธีที่ได้ผลดีที่สุดคือการตรวจแป๊บสเมียร์ (Pap Smear) ซึ่งทำได้ง่าย สะดวก ปลอดภัย และราคาถูก ให้ผลการตรวจที่น่าเชื่อถือ
3. การป้องกันระดับตติยภูมิ คือการใช้สารเคมีที่ได้จากธรรมชาติหรือสังเคราะห์ขึ้น เพื่อยับยั้งหรือทำให้เกิดการย้อนกลับของกระบวนการเกิดมะเร็ง เพื่อทำให้หายจากโรคมะเร็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น