Pelvic Inflammatory Disease ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ คืออะไร
หมายถึง ภาวะที่มีการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงส่วนบน อันได้แก่ มดลูก (endometritis) ท่อนำไข่ (salpingitis) รังไข่ (oophoritis) และเยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน (pelvic peritonitis)
อุบัติการณ์ของการเกิดโรค
ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานถึงอุบัติการณ์ของโรคที่ชัดเจน แต่ในต่างประเทศได้มีการเก็บข้อมูลพบว่า ในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกด้วยโรคนี้ถึงปีละ 106,000 ราย และมีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักการรักษาในโรงพยาบาลถึงปีละ 60,000 ราย
ส่วนมากมักพบในหญิงวัยเจริญพันธุ์มากกว่า แต่พบน้อยในสตรีตั้งครรภ์ สตรีวัยก่อนมีระดู สตรีวัยหลังหมดระดู และสตรีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
พยาธิกำเนิด (Pathogenesis)
มักเกิดจากการติดเชื้อจากระบบสืบพันธุ์เพศหญิงส่วนล่างขึ้นสู่ส่วนบนเท่านั้น โดยปกติปากมดลูกจะมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเคลื่อนตัวสู่ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงส่วนบน ทำให้ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงส่วนบนเป็นบริเวณที่ปลอดเชื้อโรค แต่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ หรือการทำหัตถการผ่านทางช่องคลอดและปากมดลูก จะทำให้เชื้อโรคสามารถเคลื่อนตัวสู่ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงส่วนบน และก่อให้เกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบได้
ยังสามารถพบได้ในหญิงที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค แต่อุบัติการณ์ค่อนข้างน้อย โดยเชื้อประจำถิ่นในช่องคลอดก่อให้เกิดภาวะนี้ ได้แก่ Streptococci, Staphylococci, Enterobacteriaceae (เชื้อประจำถิ่นที่เป็นสาเหตุหลักคือ Klebsiella spp.,Escherichia coli.,Proteus spp.) ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่า เพราะเหตุใดเชื้อประจำถิ่นในช่องคลอดจึงก่อโรคในเฉพาะหญิงบางรายเท่านั้น แต่จากการศึกษารายงานว่า ปัจจัยที่มีผลคือ ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีผลต่อมูกบริเวณปากช่องคลอด และปัจจัยในด้านจำนวนของเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด
35% มักเกิดจากการติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน เชื้ออื่นๆที่สามารถพบได้ เช่น Atopobium, Sneathia, Leptotrichia, group A and B streptococci, E.coli, Klebsiella spp, Proteus mirabilis, Haemophilus spp, Bacteroides/Prevotella spp, Peptococcus และ Peptostreptococcus spp
ปัจจัยเสี่ยง (Risk factor)
ปัจจัยด้านเพศสัมพันธ์ เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะมากที่สุด
1. การมีคู่นอนหลายคน (Multiple sexual partner) จากการศึกษาพบว่าหญิงที่มีคู่นอนตั้งแต่ 4 คนขึ้นไปในช่วงเวลา 6 เดือนจะเพิ่มโอกาสต่อการเกิดภาวะมากกว่าคนทั่วไป 3.4 เท่า รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์มากกว่า 6 ครั้งต่อสัปดาห์จะเพิ่มโอกาสต่อการเกิดภาวะมากกว่าคนทั่วไป 3.2 เท่า นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการมีคู่นอนหลายคนเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ
2. การที่คู่นอนมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI in partner) โดยเฉพาะการติดเชื้อ gonococcal หรือ chlamydial urethritis ในเพศชายที่ 1 ใน 3 อาจไม่แสดงอาการ ทำให้เกิดภาวในหญิงที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยเพิ่มขึ้น
3. อายุ (Age) จากการศึกษามักพบในหญิงอายุช่วง 15-25 ปี มากที่สุด นอกจากนั้นการติดเชื้อซ้ำมักเกิดในหญิงที่เริ่มมีภาวะโรคนี้ตั้งแต่อายุน้อย โดยหญิงที่เริ่มมีภาวะโรคนี้ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 15 ปี พบว่ามีโอกาสเกิดการติดเชื้อซ้ำถึง 54% และหญิงที่เริ่มมีภาวะโรคนี้ในช่วงอายุ 15-19 ปี มีโอกาสติดเชื้อซ้ำ 30%
4. ประวัติภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบในอดีต (Previous PID) พบว่า 1 ใน 4 ของหญิงที่มีภาวะอาจมีภาวะการติดเชื้อซ้ำได้
5. การใส่ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device/ IUD) จากงานวิจัยพบว่าการใส่ห่วงคุมกำเนิดจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเล็กน้อย โดยมักจะเกิดในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังจากการทำหัตถการ หากเกิดภาวะจากการใส่ห่วงคุมกำเนิด ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องถอดห่วงคุมกำเนิด
6. ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของเชื้อประจำถิ่นในช่องคลอด เช่นการติดเชื้อ bacterial vaginosis
ปัจจัยป้องกัน (Protective factor)
การใช้เครื่องมือคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัย (barrier method) สามารถป้องกันการติดเชื้อที่บริเวณปากมดลูกจากเชื้อ gonococcal และ chlamydial ได้ถึง 50% หากสามารถใช้ได้อย่างถูกวิธี
การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด (Oral contraceptive pills) ยังมีการศึกษาถึงผลต่อการเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ บางงานวิจัยพบว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดจะเพิ่มการติดเชื้อ gonococcal และ chlamydial บริเวณปากมดลูก แต่บางงานวิจัยพบว่ายาเม็ดคุมกำเนิดสามารถลดการเกิดภาวะได้ 50%
อาการ (Symptoms)
1. ปวดท้องน้อย อาจเป็นได้ทั้ง 1 หรือ 2 ข้าง
2. ตกขาวลักษณะผิดปกติ หรือตกขาวลักษณะเหมือนหนอง (Purulent vaginal discharge)
3. เจ็บลึกๆ ขณะมีเพศสัมพันธ์ (Deep dyspareunia)
4. เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
อาการแสดง (Signs)
1. กดเจ็บบริเวณท้องน้อย (lower abdominal tenderness)
2. เจ็บบริเวณปีกมดลูกขณะที่ตรวจภายใน (Adnexal tenderness)
3. เจ็บเมื่อมีการโยกปากมดลูกขณะตรวจภายใน (Cervical motion tenderness)
4. มีไข้ > 38.3 องศาเซลเซียส
การดูแลรักษา (Management)
ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบเป็นการติดเชื้อชนิดหนึ่ง สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน และสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้หากอาการอยู่ในระดับ mild หรือ moderate หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรักษาแบบผู้ป่วยใน
1. ไม่สามารถแยกโรคกับภาวะที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดได้ (surgical condition)
2. ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน
3. อาการรุนแรง เช่น ไข้สูง คลื่นไส้อาเจียนมาก
4. โรคดำเนินต่อจนกลายเป็นฝีบริเวณปีกมดลูก
5. ภาวะระหว่างการตั้งครรภ์
6. ไม่สามารถทนผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานได้
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย
1. งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้น
2. ควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มเติม เช่น HIV infection, GC และ chlamydia
3. คู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยภายใน 60 วันก่อนมีอาการ ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม และรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ที่สามารถคลุมเชื้อ N.gonorrhea และ C.trachomatis ได้ หากผู้ป่วยไม่มีเพศสัมพันธ์ในช่วง 60 วันก่อนมีอาการให้รักษาคู่นอนคนสุดท้ายที่เคยมีเพศสัมพันธ์ด้วย
ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว (long-term complication)
การเป็นซ้ำของภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Recurrent PID) ในหญิงที่เคยมีประวัติการเป็นภาวะโรคนี้แล้วมีโอกาสเป็นซ้ำได้มากขึ้น โดยเฉพาะหญิงวัยรุ่นจะมีโอกาสการกลับเป็นซ้ำมากกว่าผู้ใหญ่
ภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรัง (Chronic pelvic pain) เป็นภาวะที่มีอาการปวดท้องน้อยโดยที่อาจสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์กับประจำเดือนก็ได้ นานเป็นระยะเวลามากกว่า 6 เดือน โดยจากการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของหญิงที่เคยมีประวัติภาวะจะกลายเป็นโรคนี้ โดยที่สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเชื่อว่าเกิดจากพังผืดในอุ้งเชิงกราน และกระบวนการอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อร่วมด้วย
ภาวะมีบุตรยาก (infertility) เนื่องจากมีการอักเสบภายในอุ้งเชิงกรานจะทำให้เกิดความเสียหายต่อท่อนำไข่ ทำให้เกิดพังผืดและทำให้ท่อนำไข่ตันในที่สุด โดยที่สาเหตุมักสัมพันธ์กับการติดเชื้อ C.trachomatis นอกจากนั้นยังสัมพันธ์กับการเข้ารับการรักษาที่ช้าเกินไป โดยข้อมูลพบว่าการรักษาหลังจากที่มีอาการแล้วช้ากว่า 3 วันขึ้นไปจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะมีบุตรยากเพิ่มขึ้น 3 เท่า
ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy) การมีรอยแผลหรือพังผืดที่บริเวณท่อนำไข่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดการท้องนอกมดลูก
มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer) จากการศึกษาพบว่าหญิงที่มีประวัติภาวะจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้น 2 เท่ามากกว่าคนทั่วไป และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหากมีประวัติภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบหลายครั้ง ซึ่งยังไม่ทราบถึงกลไกของการเกิดมะเร็งรังไข่ แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากผู้ป่วยจะมีภาวะไม่มีบุตรเนื่องจากมีบุตรยากทำให้ความเสี่ยงต่อมะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
-
Sale Product on saleผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามสิบ ตราสมุนไพรคุณสัมฤทธิ์350.00 บาท – 1,280.00 บาท
-
Sale Product on saleยาน้ำผสมรากสามสิบ450.00 บาท – 1,680.00 บาท
-
Sale Product on saleยาแคปซูลผสมสมุนไพรรากสามสิบ ตรา สมุนไพรคุณสัมฤทธิ์ สูตร 2350.00 บาท – 1,280.00 บาท