ผลกระทบของพฤติกรรมต่อ “สุขภาพเพศ” ปัจจุบันเรื่องเพศได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น การทำความรู้จักกับเรื่องเพศนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ สุขภาพเพศ (Sexual Health) เพื่อที่ทุกท่านจะได้ดูแลสุขภาพเพศของตนเองได้ดีขึ้น โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้คำนิยามของ “สุขภาพเพศ” คือ สุขภาวะทางกาย อารมณ์ จิตใจและสังคมเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งมิได้หมายถึงเพียงการไม่มีโรคหรือไม่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศเท่านั้น การมีสุขภาพเพศที่ดีจะเกิดขึ้นเมื่อสิทธิทางเพศของมนุษย์ทุกคนได้รับการเคารพ การคุ้มครองและเติมเต็ม แต่ท่านจะทราบได้อย่างไรว่าท่านมีสุขภาพเพศที่ดีหรือไม่ การวัดสุขภาพเพศนั้นทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานในการชั่งตวงวัด ไม่เหมือนการวัดความสามารถในการเจริญพันธุ์หรือวัดระดับฮอร์โมนในร่างกายซึ่งทำได้ง่ายกว่า อีกทั้งคำว่า“สุขภาพเพศ” ยังมีความแตกต่างไปตามบริบทของแต่ละสังคม ดังนั้นในแต่ละสังคม จึงต้องการเครื่องมือในการวัดที่จำเพาะกับแต่ละวัฒนธรรม นอกจากนี้แล้วปัจจัยทางพฤติกรรมก็มีผลต่อสุขภาพเพศด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ความอ้วน (Obesity)
ความอ้วนมีความสัมพันธ์ชัดเจนกับการลดลงของความสามารถในการมีบุตรของสตรี สตรีที่มีน้ำหนักตัวมากจะเพิ่มความเสี่ยงของการมีประจำเดือนไม่ปกติ การแท้งบุตร และความพึงพอใจขณะมีเพศสัมพันธ์ลดลง จากการศึกษาพบว่าสตรีที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) >25kg/m2 หรือมีน้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์มากกว่า 80 กิโลกรัม ใช้เวลามากกว่าคนปกติ 2 เท่า เพื่อที่จะตั้งครรภ์ได้สำเร็จ ผู้ชายอ้วนก็มีปัญหาสุขภาพเพศด้วย กล่าวคือจะไม่พบอสุจิหรือมีอสุจิน้อยกว่าคนทั่วไป มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนน้อยกว่าคนทั่วไป ความอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงของ Metabolic Syndrome ซึ่งส่งผลต่อการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มความเสี่ยงการมีไขมันในโลหิตสูง อันจะส่งผลเสียต่อรูปร่างของอสุจิรวมถึงทำให้อุณหภูมิของถุงอัณฑะสูงเกินกว่าจุดที่เหมาะสมของการสร้างอสุจิ
การสูบบุหรี่ (Smoking)
การสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ และลดความสามารถในการเจริญพันธุ์ลง สตรีที่สูบบุหรี่มีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จน้อยกว่าสตรีที่ไม่สูบบุหรี่ถึงร้อยละ 54 นอกจากนี้การสูบบุหรี่ทำให้ปริมาณไข่สำรองลดลง ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ระดับ FSH เพิ่มมากขึ้น และเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าสตรีที่ไม่สูบบุหรี่ ในขณะที่ชายที่สูบบุหรี่จะมีปริมาตรและความเข้มข้นของน้ำอสุจิลดลง รวมถึงการเคลื่อนไหวและรูปร่างของอสุจิผิดไปจากปกติ
การออกกำลังกาย (Exercise)
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอส่งผลดีต่อสุขภาพแน่นอน แต่การออกกำลังกายมากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อความสามารถในการเจริญพันธุ์ได้เช่นกัน สตรีที่ออกกำลังกายอย่างหนักและต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะมีความสามารถในการเจริญพันธุ์ลดลงและประจำเดือนขาดไปจากปกติ รวมถึงสตรีที่มีค่าดัชนีมวลกายน้อยมาก ก็จะมีความสามารถในการเจริญพันธุ์ลดลง สำหรับผู้ชายการออกกำลังกายที่มากเกินส่งผลเสียต่ออสุจิและการเพิ่มอนุมูลอิสระ ทำให้คุณภาพของอสุจิลดลง สำหรับการออกกำลังกายที่ส่งผลดีต่อสุขภาพเพศนั้น คือ การออกกำลังกายที่มีความถี่ปานกลาง แต่การไม่ออกกำลังกายหรือออกกำลังกายน้อยเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพเพศเช่นกัน
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol)
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อทารกในครรภ์ สตรีที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเล็กน้อยจะช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ หากดื่มในปริมาณมากเกินไปจะมีความเสี่ยงทำให้ความสามารถในการเจริญพันธุ์ลดลงจากการตกไข่ที่ผิดปกติ ในขณะที่ผู้ชายการดื่มแอลกอฮอล์เล็กน้อยจะช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศ แต่หากดื่มในปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ เนื่องจากเส้นประสาทส่วนปลายเสียหาย อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าที่ทำให้เกิดการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ในชายที่บริโภคแอลกอฮอล์เกิน 80 กรัมต่อวัน มักจะมีผลตรวจน้ำอสุจิที่ผิดปกติ ด้วยเรื่องสุขภาพเพศเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัว หากเข้าใจถึงปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมสามารถนำมาปรับใช้และบำรุงให้ตนเองและคนในสังคมมีสุขภาพเพศที่ดีได้