Amenorrhea ภาวะประจำเดือนขาด
การมีประจำเดือนในแต่ละรอบเดือน จะต้องมีระบบฮอร์โมนที่ทำงานสอดประสานกันอย่างเป็นระบบ ได้แก่ สมองส่วน hypothalamus หลั่ง gonadotropin-releasing hormone (GnRH) แบบ pulsatile เพื่อกระตุ้นการทำงานของต่อมใต้สมองส่วนหน้า (anterior pituitary gland) เพื่อให้หลั่ง gonadotropins (FSH และLH) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของรังไข่ (ovarian follicular development และ ovulation) หลังจากนั้นก็มีการหลั่งฮอร์โมน estrogen และ progesterone กระตุ้นให้มีการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูก (endometrial development) ทำให้หลุดลอกกลายเป็นประจำเดือนในเวลาที่เหมาะสม รวมถึงมี out flow tract ที่สมบูรณ์ ติดต่อจากโพรงมดลูกถึงปากช่องคลอด
การขาดประจำเดือนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
– การขาดประจำเดือนปฐมภูมิ (Primary amenorrhea) คือภาวะที่สตรีไม่เคยมี ประจำเดือนเลย ตั้งแต่สาว (ใช้เกณฑ์อายุ 16 ปี ยังไม่เคยมี ระดู หรือ 14 ปี ยังไม่มีลักษณะพัฒนาการทางเพศขั้นที่สองของสตรีเช่น การมีเต้านม ขนหัวหน่าว ขนที่อวัยวะเพศ ขนรักแร้ และการมีระดู)
– การขาดประจำเดือนทุติยภูมิ (Secondary amenorrhea) คือภาวะที่สตรีเคยมี ระดูมาก่อน แต่ต่อมามีการขาดระดูติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน หรือ 3 รอบของรอบระดูที่เคยมีมาก่อน
สาเหตุของการขาดประจำเดือน
1. การขาดประจำเดือนปฐมภูมิ (Primary amenorrhea) สาเหตุอาจเกิดจากพันธุกรรม ความผิดปกติทางกายวิภาคของระบบสืบพันธุ์มาตั้งแต่กำเนิด หรือมีความผิดปกติของโครโมโซม ทำให้มีผลต่อการทำงานของรังไข่ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศได้ตามปกติ
2. การขาดประจำเดือนทุติยภูมิ (Secondary amenorrhea)
– การตั้งครรภ์
– ภาวะ Polycystic ovary syndrome (PCOS) คือภาวะที่รังไข่เกิดภาวะตกไข่ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ตกไข่เรื้อรัง เกิดเป็นถุงน้ำเล็กๆ หลายใบในรังไข่จากภาวะไข่ไม่ตก
– การตีบตันของปากมดลูก ช่องคลอด และ หรือโพรงมดลูก เนื่องจากพังผืดหรือหลังการขูดมดลูก ทำให้เลือดระดูไม่สามารถไหลออกมาทางช่องคลอดตามปกติได้
– ภาวะทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์
– ภาวะเครียด
– ภาวะอ้วน (Obesity)
– การออกกำลังกายอย่างหนัก
– การทำงานของรังไข่ล้มเหลวก่อนกำหนด จากการฉายรังสี/รังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง
– การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาทางจิตเวช ยาต้านซึมเศร้า ยารักษาความดันโลหิตสูงและสารเสพติดอื่นๆ เป็นต้น
อาการของประจำเดือนขาด
อาการหลัก คือ การขาดประจำเดือน ซึ่งอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดการขาดประจำเดือน เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มหรือน้ำหนักลด มีการเปลี่ยนแปลงขนาดของเต้านมหรือมีน้ำนมไหลจากเต้านม สิวขึ้น ผมร่วง มีขนขึ้นบนหน้า ปวดหัวหรือมีการมองเห็นที่เปลี่ยนไปและอาการปวดท้องน้อย
อาการที่ควรปรึกษาแพทย์
– ไม่เคยมีประจำเดือนมาก่อนเมื่ออายุ 16 ปี หรืออายุ 14 ปี แต่ยังไม่มีลักษณะพัฒนาการทางเพศขั้นที่สองของสตรี
– เป็นการขาดประจำเดือน แบบเคยมีประจำเดือนมาก่อน แต่ต่อมาประจำเดือนขาดหายไป อย่างน้อย 6 เดือน หรือ 3 รอบของรอบระดูที่เคยมีมาก่อน แล้วตรวจไม่พบว่ามีการตั้งครรภ์
– มีการขาดประจำเดือนร่วมกับโรคอ้วน หรือผอมมาก
– มีการขาดประจำเดือนร่วมกับมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น
– มีการขาดประจำเดือนร่วมกับมีขนหรือหนวดขึ้น มากกว่าผิดปกติ
– มีการขาดประจำเดือนร่วมกับปวดศีรษะ ตาพร่ามัว
– มีการขาดประจำเดือนร่วมกับมีน้ำนมไหล
รักษาภาวะขาดประเดือน หรือ ประจำเดือนมาไม่ปกติ
ภาวะขาดประจำเดือนจากการตั้งครรภ์ การให้นมบุตร การหมดประจำเดือนไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา หากภาวะขาดประจำเดือนเกิดจากปัญหาด้านอื่น ๆ การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตอาจช่วยได้ โดยเริ่มรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น ยกน้ำหนักหรือออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และจัดการกับความเครียดที่มี บางรายอาจจะต้องรับประทานยาฮอร์โมน เช่น เอสโทรเจน แคลเซียม หรือวิตามินดี แพทย์อาจทำการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีพังผืดในมดลูก เนื้องอกต่อมใต้สมอง มีผนังกั้นช่องคลอดหรือภาวะเยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด
วิธีการดูแลสุขภาพตนเองเมื่อประจำเดือนมาไม่ปกติ
– ลดความเครียด
– พักผ่อนให้รู้สึกผ่อนคลาย
– เลือกรับประทานอาหารให้ครบถ้วนและเหมาะสม
– รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
– หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น
– ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ภาวะแทรกซ้อนหากมีภาวะขาดประจำเดือน
– ภาวะมีบุตรยากในผู้ที่มีภาวะตกไข่ไม่สม่ำเสมอ
– เสี่ยงต่อภาวะแท้งบุตรหากภาวะขาดประจำเดือนเกิดจากความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกาย
– เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนและโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนไม่เพียงพอ
– ปวดท้องน้อย หากภาวะขาดประจำเดือนเกิดจากปัญหาทางด้านกายภาพ
– เกิดความเครียดทางจิตใจเนื่องจากประจำเดือนไม่มาตามปรกติ
ทำความรู้จักกับสมุนไพรน่ารู้
ชื่ออื่น เค็ดเค้า (เหนือ) หนามลิดเค้า จีเก๊า (เชียงใหม่) พญาท้าวเอว (กาญจนบุรี) คัดเค้าเครือ(นครราชสีมา) คัดเค้าหนาม (ชัยภูมิ)
สรรพคุณ ตำรายาไทย ทั้งต้น มีรสฝาด แก้เสมหะ และโลหิต บำรุงโลหิต แก้ไข้ ใบ แก้โลหิตซ่าน แช่น้ำดื่มแก้ไข้ ราก มีรสเย็นฝาดเล็กน้อย แก้ไข้ และเลือดออกตามไรฟัน แก้เสมหะ ดอก รสขมหอม แก้โลหิตในกองกำเดา แก้เลือดออกตามไรฟัน ผล รสเฝื่อนปร่า ปรุงเป็นยาต้มฟอกโลหิตระดูที่เน่าร้ายของสตรี เป็นยาขับประจำเดือน ฟอกเลือด บำรุงโลหิต ผลมีสารจำพวกไตรเทอร์ปีนซาโปนิน มีฤทธิ์เบื่อปลา ราก รสฝาดเย็น ช่วยขับเลือด แก้ไข้ แก้เลือดออกตามไรฟัน ขับลม รากและผล ขับระดู บำรุงโลหิต ขับฟอกโลหิต แก้ท้องเสีย รากหรือแก่น ฝนน้ำกินแก้ไข้ เปลือกต้น แก้เสมหะและโลหิตซ่าน รีดมดลูก แก้เลือดออกในทวารทั้งเก้า หนาม แก้ฝีประคำร้อย แก้พิษฝีต่างๆ ลดไข้ ลดความร้อน แก้ไข้พิษไข้กาฬ แก่น ฝนน้ำรับประทานแก้ไข้
องค์ประกอบทางเคมี มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของคัดเค้า พบว่ามีสารต่างๆ หลายชนิดได้แก่ β-sitosterol, D-Mannitol, campesterol, 3 β-Acetyl oleanolic acid, 3-O-a-L-Arabinopyranosyl oleanolic acid, Mesembryanthe moidigenic acid หรือ 3b-29-dihydroxy-olean-12-enl-28-oic acid, urolic acid, Pseudoginsenoside-RP, 3-O-hydroxy ursolic acid, β-acetyloleanolic acid เป็นต้น
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
1. เนื่องจากหลายๆส่วนของคัดเค้า มีสรรพคุณ ฟอกโลหิต ช่วยขับประจำเดือน ดังนั้นสตรีมีครรภ์จึงไม่ควรใช้คัดเค้าเป็นสมุนไพร
2. ในการใช้คัดเค้าเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี ตามที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้คัดเค้า เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ