Chronic Obstructive Pulmonary Disease โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease COPD) เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยซึ่งอาการจะค่อยๆเป็นมากขึ้น ทำให้ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง หรือในกรณีที่โรคมีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยแม้แต่การทำกิจอยู่เฉยๆ เหล่านี้จะนำไปสู่สภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตชีวิตที่ลดลงด้วย
โรคนี้เป็นโรคที่เกิดมาจากความผิดปกติในการตอบสนองของปอดต่อสารหรือก๊าซที่มากระตุ้นก่อให้เกิดการอุดกั้นของหลอดลมในลักษณะเรื้อรังที่มีการฟื้นกลับไม่เต็มที่ (not fully reversible) เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ (progressive) และส่งผลเสียไม่ใช่เฉพาะระบบบหายใจเท่านั้น แต่เกิดผลกระทบต่ออวัยวะหรือระบบอื่นๆ (extrapulmonary effects) ด้วย
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
1. การสูบบุหรี่เป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน สาเหตุของโรค COPD มากกว่า 90% มาจาก โดยการสูบบุหรี่ทำให้เกิดอาการทางระบบหายใจที่เพิ่มขึ้น มีการทำงานของปอดที่ผิดปกติ ตรวจสมรรถภาพปอดจะพบว่ามีการลดลงของปริมาตรของลมหายใจที่วัดจากการหายใจออกเต็มที่และรวดเร็วในเวลา 1 วินาที หรือที่เรียกว่า FEV, (Force expiratory volume in one second)
2. การขาดสารพันธุกรรม คือขาดสารแลฟา-1 แอนติทริปซิน
3. อายุที่มากขึ้น อายุเกิน 65 ปี ซึ่งมีผลต่อความเสื่อมของหลอดลม
4. ได้รับการสัมผัส สูดดูดกับมลพิษทางอากาศ เคยทำงานกับสารเคมี ฝุ่น หรือไอระเหย
5. มีโรคติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อยในวัยเด็ก
6. สาเหตุอื่น ๆ เช่น การเจริญที่ผิดปกติของหลอดลม มีการแบ่งแยกผิดปกติหรือการได้รับสารพิษขณะอยู่ในครรภ์ เป็นต้น
อาการและอาการแสดง
1. อาการไอมีเสมหะเป็นระยะเวลานาน
2. หายใจลำบากในการหายใจเข้าลึก ๆ หายใจสั้น โดยเฉพาะเมื่อทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือออกแรงเพียงเล็กน้อย
3. มีเสียงหวีดหรือเสียงปอดที่ผิดปกติอื่น ๆ
การรักษาและการดูแล
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่สามารถรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังให้หายขาดได้ การรักษาจึงเป็นเพียงการประคับประคองแก้ไขตามอาการ โดยมีจุดมุ่งหมายของการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ดังนี้
1. บรรเทาอาการของโรคให้ลดน้อยลง เช่น การให้ยาขยายหลอดลม การให้ออกซิเจนเมื่อมีอาการหอบเหนื่อยหายใจลำบาก ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับออกซิเจนในขนาดที่พอเหมาะ ภายใต้การดูแลของแพทย์
2. ป้องกันการกำเริบของโรค โดยเฉพาะปัจจัยชักนำ เช่น การสูบบุหรี่ การติดเชื้อ การปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง เป็นต้น
3. คงสมรรถภาพการทำงานของปอดไว้หรือให้เสื่อมลงช้าที่สุด การรักษาที่สำคัญ คือให้คำแนะนำให้การเลิกสูบบุหรี่ เพื่อหยุดยั้งหรือชะลอพยาธิสภาพที่เหลืออยู่ให้ทำหน้าที่ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและการดำเนินของโรคไม่ดำเนินต่อไปอีกหรือดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
4. ช่วยให้ผู้ที่เป็นมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น การรักษาจึงเป็นการประคับประคองแก้ไขตามสภาพที่เกิดขึ้น รวมถึงการมีส่วนรวมของครอบครัวในการส่งเสริมให้มีกำลังใจ และสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพและสามารถพึ่งตนเองได้
การตรวจสมรรถภาพปอด
เป็นการวัดปริมาณการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจในปัจจุบันและโดยทั่วไปเป็นการดำเนินการหลังจากการใช้ยาขยายหลอดลม ซึ่งเป็นยาที่ช่วยเปิดทางเดินหายใจ องค์ประกอบหลักที่จะมีการตรวจวัดเพื่อการวินิจฉัยโรค คือ
1. ปริมาตรการหายใจออกที่ทำอย่างเต็มกำลังใน 1 วินาที (FEV1) ซึ่งเป็นปริมาตรสูงสุดของอากาศที่สามารถหายใจออกมาได้ในวินาทีแรกของการหายใจออก
2. ปริมาตรอากาศที่วัดได้เมื่อหายใจเต็มกำลัง (FVC) ซึ่งเป็นปริมาตรสูงสุดของอากาศที่สามารถหายใจออกมาได้ในการหายใจอย่างเต็มที่ 1 ครั้ง

โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) สามารถป้องกันได้โดย
– งดและหลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่หรือมลพิษทางอากาศ
– ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี ปีละ 1 ครั้ง
– ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อปอดบวมแก่ผู้ที่เป็นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ช่วยลดการกำเริบของโรค การต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้
– ลดปริมาณการสูบบุหรี่
– ลดการสัมผัสจากสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศ ปรับปรุงคุณภาพของอากาศทั้งภายในและภายนอก
ทำความรู้จักกับสมุนไพรน่ารู้
สมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรที่สามารถบำรุงโลหิต ช่วยขยายหลอดลม บำรุงปอด และดอก นำมาใช้รักษาหืด ไซนัสอักเสบ แก้หอบได้ สมุนไพรชนิดนี้คือ ปีบ
ปีบ
ชื่ออื่น กาซะลอง กาดสะลอง (เหนือ)
สรรพคุณ ดอก รสหวานขมหอม ขยายหลอดลม มวนเป็นบุหรี่สูบรักษาหืด สูบแก้ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ บำรุงน้ำดี เพิ่มการหลั่งน้ำดี บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง แก้ลม ดอกใส่ปนกับยาไทย มวนสูบทำให้ปากหอม ราก รสเฝื่อน บำรุงปอด แก้หอบ แก้วัณโรคและโรคปอด แก้ไอ แก้เหนื่อยหอบ เปลือก แก้ไอ ขับเสมหะ
ประเทศแถบเอเชียใต้ (อินเดีย จีน พม่า)ใบและราก ใช้แก้หืด ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แก้ไข้ แก้ไซนัสอักเสบ เพิ่มการหลั่งน้ำดี เป็นยาบำรุง ลำต้น บำรุงปอด และแก้ไอ เปลือกต้น ใช้เป็นสีย้อม ให้สีเหลือง ดอก ใช้รักษาหืด ไซนัสอักเสบ เพิ่มการหลั่งน้ำดี เป็นยาบำรุง ใช้ใส่ในยาสูบเพื่อรักษาโรคที่ลำคอ
องค์ประกอบทางเคมี ดอกมีสารฟลาโวนอยด์ hispidulin ช่วยขยายหลอดลม และพบฟลาโวนอยด์อื่นๆ ได้แก่ scutellarein, scutellarein-5-galactoside เป็นต้น ใบพบฟลาโวนอยด์ hispidulin, dinatin และสารอื่นๆได้แก่ ß carotene, rutinoside เปลือกต้น พบสารที่ให้ความขม และสารแทนนิน รากพบ Lapachol, β-sitosterol, poulownin
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ดอกมีฤทธิ์ขยายหลอดลมในหนูทดลอง มีฤทธิ์ปกป้องตับจากสารพิษในหนูทดลอง สาร hispidulin จากดอก มีฤทธิ์ต้านการชัก ทำให้สงบระงับในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีอาการลมชักได้สารสกัดน้ำจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดในหลอดทดลอง มีฤทธิ์ขับพยาธิ สารสกัดใบด้วย อะซิโทนมีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง