Preeclampsia ภาวะครรภ์เป็นพิษ
ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) เป็นภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่เป็นอันตราย ซึ่งจะมีอาการหลัก ๆ 3 อาการร่วมกัน ได้แก่ อาการบวม ความดันโลหิตสูง (ความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท) และตรวจพบสารไข่ขาวในปัสสาวะ ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติที่พบได้ในหญิงตั้งครรภ์ มักจะมีอาการเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5 – 6 เดือน หรือมากกว่า 20 สัปดาห์ขึ้นไป จนกระทั่งถึงหลังการคลอดอีกประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ระยะที่พบได้บ่อยมักจะเป็นในช่วงเดือนที่ 8 หรือสัปดาห์ที่ 34 – 35 ขึ้นไป หรือบางกรณีอาจเกิดกับอายุครรภ์ที่น้อยกว่านั้น แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันเวลา อาจทำให้เกิดอาการชักขณะตั้งครรภ์หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่น ๆ ตามมาได้
สาเหตุของครรภ์เป็นพิษ
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะครรภ์ที่เป็นพิษ แต่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากหลอดเลือดทั่วร่างกายหดตัว จึงนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูงและมีปริมาณเลือดที่ไหลเวียนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายน้อยลง รวมทั้งเลือดที่ไหลเวียนไปยังรกด้วย จนทำให้เกิดภาวะครรภ์ที่เป็นพิษ
โดยสาเหตุหรือปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะครรภ์ที่เป็นพิษ ได้แก่
1. มดลูกได้รับเลือดไม่เพียงพอ
2. ระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติ
3. หลอดเลือดได้รับความเสียหาย
4. กรรมพันธุ์
5. การรับประทานอาหารบางชนิด
6. ผู้ป่วยหรือบุคคลในครอบครัวเคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษ
7. มีโรคประจำตัวเรื้อรังก่อนการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรัง อ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ไมเกรน โรคเบาหวาน โรคไต โรคเอสแอลอี มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคลูปัส หรือเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
8. ตั้งครรภ์ในขณะอายุน้อย หรืออายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
9. ตั้งครรภ์ครั้งแรก
10. ตั้งครรภ์กับคู่สมรสใหม่
11. ตั้งครรภ์ลูกแฝดหรือมากกว่า 2 คน
12. ระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์แต่ละครั้งน้อยกว่า 2 ปี หรือมากกว่า 10 ปีขึ้นไป
13. การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการปฏิสนธินอกร่างกาย
14. มีประวัติครรภ์เป็นพิษในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
อาการของครรภ์เป็นพิษ
แต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกันออกไป ซึ่งมักไม่ค่อยพบอาการแสดงอย่างชัดเจน หรืออาจมีอาการเล็กน้อย โดยอาการที่พบได้บ่อยของภาวะครรภ์ที่เป็นพิษ มีดังนี้
1. ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป โดยตรวจพบระดับความดันนี้ 2 ครั้งในระยะห่างอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
2. ตรวจพบโปรตีนหรือไข่ขาวส่วนเกินในปัสสาวะ หรือพบอาการอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่าไตมีปัญหา
3. ปวดศีรษะอย่างรุนแรงแล้วยังไม่ดีขึ้นแม้รับประทานยาแก้ปวด โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอยและหน้าผาก หากอาการรุนแรงอาจชักกระตุกทั้งตัว หรือมีเลือดออกในสมองได้
4. มีปัญหาทางสายตา สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว สายตาพร่ามัว หรือตาไวต่อแสงผิดปกติ
5. หายใจไม่อิ่มหรือหายใจลำบาก เนื่องจากมีน้ำหรือของเหลวในปอด
6. ปวดท้องส่วนบน โดยมักปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่
7. คลื่นไส้ อาเจียน
8. มีปริมาณปัสสาวะน้อยผิดปกติ
9. เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
10. การทำงานของตับบกพร่อง
11. น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว ร่างกายบวมน้ำ เช่น มีอาการบวมตามใบหน้า มือ ข้อเท้า เท้า เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของครรภ์เป็นพิษ
1. ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ภาวะครรภ์ที่เป็นพิษส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดที่เชื่อมไปยังรก ทำให้รกได้รับเลือด ออกซิเจน และสารอาหารน้อยลง จึงส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หรือทำให้ทารกคลอดออกมามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ได้
2. คลอดก่อนกำหนด ผู้ป่วยที่มีภาวะครรภ์ที่เป็นพิษรุนแรงอาจต้องคลอดก่อนกำหนดเพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดอาจทำให้ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจและสุขภาพด้านอื่น ๆ ได้ด้วย
3. รกลอกตัวก่อนกำหนด เป็นภาวะที่รกหลุดหรือลอกออกจากโพรงมดลูกก่อนทารกจะคลอด ซึ่งมีความเสี่ยงให้ผู้เป็นแม่เกิดเลือดออกอย่างรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งแม่และทารกในครรภ์
4. กลุ่มอาการ HELLP เป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ทั้งแม่และทารก เพราะจะทำให้เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือดแดงแตก ค่าตับอักเสบสูงขึ้น และมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งเป็นสัญญาณของความเสียหายในอวัยวะหลายระบบ โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดท้องด้านขวาบน และอาการอื่น ๆ ในบางครั้งอาการอาจเกิดตอนความดันโลหิตสูงขึ้นหรือกำเริบกะทันหันโดยไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ
5. ชัก ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการป่วยรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้อาจเสี่ยงเกิดอาการชัก ซึ่งแพทย์ไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าจะเกิดภาวะนี้เมื่อใด เพราะส่วนใหญ่จะไม่พบสัญญาณเตือนล่วงหน้า และเป็นอันตรายต่อแม่กับทารกในครรภ์ ซึ่งทำให้แพทย์ต้องยุติการตั้งครรภ์ทันที
6. อวัยวะได้รับความเสียหาย ครรภ์เป็นพิษอาจส่งผลให้อวัยวะในหลายระบบได้รับความเสียหาย เช่น ดวงตา ตับ ไต ปอด หรือหัวใจ บางกรณีอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือกระทบกระเทือนต่อสมอง ซึ่งความเสียหายของอวัยวะต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษ
7. โรคหัวใจและหลอดเลือด ครรภ์เป็นพิษจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษมากกว่า 1 ครั้ง หรือมีประวัติคลอดทารกก่อนกำหนด
การป้องกันครรภ์เป็นพิษ
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดป้องกันการเกิดครรภ์เป็นพิษได้ แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีการ ดังนี้
1. ไปฝากครรภ์และพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยให้ตรวจวินิจฉัยพบความผิดปกติได้เร็วและรักษาได้ทันท่วงที
2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มหรือมีโซเดียมมาก อาหารไขมันสูง ของทอด รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน
3. ดื่มน้ำให้มาก ๆ ประมาณ 6 – 8 แก้ว/วัน
4. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ โดยอาจขอคำปรึกษาจากแพทย์ถึงวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง
5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
6. ยกขาให้สูงในระหว่างวันบ่อย ๆ
7. รับประทานยาหรืออาหารเสริมตามที่แพทย์สั่ง รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแลอย่างเคร่งครัด โดยแพทย์อาจให้อาหารเสริมแคลเซียมกับผู้ที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร หรืออาจให้รับประทานยาแอสไพรินปริมาณต่ำในช่วงต้นไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่ควรซื้อยาหรืออาหารเสริมใด ๆ มารับประทานเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
ผลิตภัณฑ์แนะนำที่ช่วยในเรื่องความพร้อมก่อนมีบุตร เพิ่มโอกาสการมีบุตรสำหรับสตรี
ยาแคปซูลผสมสมุนไพรรากสามสิบ ตรา สมุนไพรคุณสัมฤทธิ์ สูตร 2
ยาแคปซูลผสมสมุนไพรรากสามสิบ ยาแคปซูลผสมสมุนไพรรากสามสิบ