Gallstones นิ่วในถุงน้ำดี
เป็นภาวะที่เกิดจากการสะสมของสารแข็งในถุงน้ำดี ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง หรือในบางกรณีก็อาจไม่มีอาการเลย การเกิดนิ่วในถุงน้ำดีมีสาเหตุหลายประการ เช่น การมีคอเลสเตอรอลสูง ความอ้วน หรือการทานอาหารที่มีไขมันมาก การเข้าใจถึงสาเหตุและวิธีการรักษานิ่วในถุง-น้ำดีจึงมีความสำคัญ เพื่อป้องกันการเกิดอาการที่อาจรบกวนคุณภาพชีวิตและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่รุนแรงตามมา
โรคนิ่วในถุง-น้ำดีเป็นโรคที่พบได้บ่อย มักพบได้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นิ่วในถุง-น้ำดีเป็นชิ้นส่วนแข็งที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดี เกิดขึ้นจากส่วนประกอบของน้ำดีโดยเฉพาะคอเลสเตอรอลและบิลิรูบิน ตกตะกอนผลึกซึ่งก้อนที่เกิดขึ้นอาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายหรือใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ และมีได้ตั้งแต่หนึ่งก้อนจนถึงหลายก้อน
นิ่วในถุง-น้ำดีมี 2 ชนิดหลัก ได้แก่
1. ชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol stones) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยประมาณร้อยละ 80 ของนิ่วในถุง-น้ำดีทั้งหมด มีลักษณะเป็นก้อนสีขาว เหลือง หรือเขียว เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในน้ำดีหรือการบีบตัวของกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีมีสมรรถภาพไม่เพียงพอ สารจึงไม่สามารถออกมาได้
2. ชนิดที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (Pigment stones) ก้อนนิ่วชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่าและมีสีคล้ำกว่าชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็งหรือผู้ที่มีความผิดปกติของเลือด เช่น โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางจากการขาดเอนไซม์ G6PD
ปัจจัยเสี่ยงของนิ่วในถุงน้ำดี
1. พันธุกรรม ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีจะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้มากขึ้น
2. ภาวะอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลมาก เนื่องจากความอ้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดี
3. ฮอร์โมนเอสโตรเจนและการตั้งครรภ์ มีผลเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลและลดการเคลื่อนตัวของถุงน้ำดี ผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทน จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้
4. เพศและอายุ พบมากในเพศหญิง และผู้สูงอายุ
5. โรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะมีระดับของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงและถึงน้ำดีจะมีการบีบตัวน้อยในผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงจึงมีความเสี่ยง
6. การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ตับหลั่งคอเลสเตอรอลมากขึ้น รวมถึงถุงน้ำดีจะบีบตัวลดน้อยลง น้ำดีจึงค้างอยู่ในถุงน้ำดีนานขึ้น และเพิ่มโอกาสเกิดการตกตะกอนมากขึ้น
7. อาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูงและเส้นใยต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
อาการและอาการแสดง
ส่วนใหญ่แล้วนิ่วในถุงน้ำดีไม่ก่อให้เกิดอาการ ผู้ที่เป็นมักจะทราบก็ต่อเมื่อมาตรวจสุขภาพหรือมาพบแพทย์ด้วยปัญหาสุขภาพอื่น ๆ และหากมีอาการที่แสดงออกมา มักพบอาการได้ ดังต่อไปนี้
1. ปวดท้องอย่างรุนแรงโดยเฉพาะบริเวณท้องส่วนบนหรือด้านขวา โดยมีระยะเวลาปวดตั้งแต่ 15 นาที ถึงหลายชั่วโมง และอาจมีอาการร้าวไปที่บริเวณกระดูก สะบักหรือบริเวณไหล่ด้านขวา
2. คลื่นไส้ อาเจียน
3. อาการทางระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนยอดอก มีลมในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะเสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หลังรับประทานอาหาร
4. หากมีอาการถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน จะทำให้มีไข้ ปวดท้องใต้ชายโครงขวา และอาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้มได้
การรักษา
1. ในรายที่ไม่แสดงอาการ ให้งดอาหารประเภทอาหารมัน ของทอด แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี
2. ในรายที่มีอาการปวดท้องถ้าพิจารณาแล้วว่าเกิดจากนิ่ว จะแนะนำให้ผ่าตัดถุงน้ำดีออ
3. ในรายที่มีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย จะได้รับยาแก้ปวด ยาปฎิชีวนะ งดอาหารและน้ำทางปาก ให้นอนพัก หากอาการไม่ดีขึ้นจะพิจารณาในการรักษาโดยการผ่าตัด
การผ่าตัดมี 2 วิธี คือ การผ่าตัดโดยการเปิดหน้าท้องโดยตรง และการผ่าตัดผ่ากล้อง
ผลดีของการผ่าตัดถุงน้ำดีใต้กล้อง
1. อาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า เพราะแผลมีขนาดเล็ก
2. อยู่โรงพยาบาล ประมาณ 1-2 วัน ซึ่งถ้าผ่าตัดแบบเดิม อยู่โรงพยาบาล ประมาณ 7-10 วัน
3. การพักฟื้นหลังผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ทำให้กลับไปทำงานตามปกติได้เร็วกว่า ถ้าผ่าตัดแบบเดิม ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 เดือน
4. แผลขนาดเล็กดูแลง่ายกว่า และมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าแผลขนาดใหญ่
5. เมื่อแผลหายจะเป็นรอยเล็กๆบนหน้าท้องเท่านั้น
การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน
1. งดอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ขาหมู แคบหมู กะทิ เป็นต้น เป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
2. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
3. พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการทำงานหนักในระยะเวลา 3 เดือนแรก กรณีผ่าตัดแบบเปิดแผล สำหรับการผ่าตัดแบบส่องกล้องควรพักประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามความเหมาะสม
4. หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ตัวเหลือง ตาเหลืองมากขึ้น ให้พบแพทย์ทันที
ทำความรู้จักกับสมุนไพรน่ารู้
สมุนไพรที่ดูแลระบบทางเดินอาหาร มีสรรพคุณในการลดท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลม และแก้มุตกิด ช่วยเจริญอาหาร และนอกจากนี้ยังมีสรรพคุณในการบำรุงกำหนัดอีกด้วย สมุนไพรชนิดนี้ คือ กระชาย
กระชาย
ชื่ออื่น กะแอน ขิงทราย (มหาสารคาม) ละแอน (เหนือ) ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ) จี๊ปู ซีพู เป๊าะซอเร้าะ เป๊าะสี่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) ขิงแดง ขิงกระชาย
สรรพคุณ ตำรายาไทย เหง้า ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด แก้ปวดมวนท้อง ขับลม ช่วยให้กระเพาะ และลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น แก้โรคอันเกิดในปาก แก้มุตกิด แก้ลมอันบังเกิดแต่กองหทัยวาต แก้ปากเปื่อย ปากแห้ง ปากแตกเป็นแผล แก้ปวดมวนในท้อง แก้บิดมูกเลือด แก้ปวดเบ่ง รักษาลำไส้ใหญ่อักเสบ บำรุงกำลัง ช่วยเจริญอาหาร ขับระดูขาว แก้ใจสั่น ราก(นมกระชาย) แก้กามตายด้าน ทำให้กระชุ่มกระชวย บำรุงความกำหนัด มีสรรพคุณคล้ายโสม หมอโบราณเรียกว่า “โสมไทย”
ในบัญชียาหลักแห่งชาติกระชายถูกนำมาเป็นส่วนประกอบระบุในตำรับ ยาเลือดงาม มีส่วนประกอบของเหง้ากระชายร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด
ตำรายาแผนโบราณของไทย มีการใช้กระชายใน พิกัดตรีกาลพิษ คือจำนวนตัวยาแก้พิษตามกาลเวลา 3 อย่าง มีรากกะเพราแดง เหง้าข่า และหัวกระชาย สรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงความกำหนัด แก้ไข้สันนิบาต แก้เลือด เสมหะ แก้กามตายด้าน
ตำรายาพื้นบ้านนครราชสีมา ใช้เหง้า แก้โรคบิด โดยนำเหง้าย่างไฟให้สุกแล้วโขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำปูนใส รับประทานทั้งน้ำและเนื้อ ครั้งละครึ่งแก้ว เช้า เย็น และใช้เหง้าแก้กลากเกลื้อน โดยนำเหง้ามาโขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรงทาบริเวณที่เป็นแผล
ตำรายาพื้นบ้านล้านนา ใช้เหง้า รักษาโรคทางดินปัสสาวะอักเสบ กลากเกลื้อน ท้องอืดเฟ้อ
องค์ประกอบทางเคมี มีน้ำมันระเหยง่าย 0.08% ประกอบด้วย 1,8 cineol, boesenbergin A, dl-pinostrobin, camphor, cardamonin, panduratin และสารกลุ่ม flavonoid และ chromene ได้แก่ panduratin A (prenylated cyclohexenylchalcone), 6- dihydroxy -4 – methoxychalcone, pinostrobin, pinocembin (flavanone)
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัส covid-19 ฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
Irritable Bowel Syndrome ภาวะลำไส้แปรปรวน
Chronic Pelvic Pain ปวดท้องน้อยเรื้อรัง