Plantar Fasciitis รองช้ำ
โรคที่ทำให้มีอาการปวดบริเวณส้นเท้า ซึ่งพบได้บ่อยมาก ๆ เกิดจากการอักเสบแบบเรื้อรังของพังผืดฝ่าเท้า ที่ยึดบริเวณกระดูกส้นเท้าไปที่เท้าส่วนหน้า ทำให้มีอาการปวดส้นเท้าตอนเริ่มเดิน เช่น ช่วงตื่นนอนตอนเช้าเดินก้าวแรก ๆ หรือนั่งทำงาน นั่งรถสักพัก แล้วเริ่มเดิน หลังจากที่เดินไปสักพัก อาการปวดเท้าจะเริ่มลดลง บางคนที่มีอาการมาก อาการปวดอาจมีตลอดเวลาที่เดินเลยก็ได้
อาการนี้ เกิดจากพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ ซึ่งพังผืดบริเวณฝ่าเท้าจะมีได้ทุก ๆ คนอยู่แล้ว และพังผืดฝ่าเท้าของเราจะเกาะจากกระดูกส้นเท้าไปที่ส่วนหน้าเท้า ทำหน้าที่ในการขึงให้เท้าเป็นอุ้งเท้าขึ้นมา นอกจากนี้บริเวณกระดูกส้นเท้ายังมีเอ็นร้อยหวายมาเกาะอยู่ด้วย โดยที่พังผืดฝ่าเท้ากับเอ็นร้อยหวายจะทำงานผสานกันอยู่ตลอดเวลา พังผืดฝ่าเท้าที่ตึงเกินไป และเอ็นร้อยหวายที่ตึงเกินไปจะทำให้แต่ละก้าวเดิน ใช้งานพังผืดฝ่าเท้ามากกว่าปกติ เมื่อเดินมาก ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ จุดเกาะพังผืดฝ่าเท้าก็อักเสบขึ้นมาได้
สาเหตุที่ทำให้เป็นรอง-ช้ำ
คนที่อายุ 40 – 60 ปี เป็นช่วงที่ทำงานหนัก ออกกำลังกายหนัก
มีโครงสร้างเท้าผิดรูป ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นเท้าแบน อุ้งเท้าสูง เอ็นร้อยหวายตึงเกินไป จะพบรอง-ช้ำได้บ่อย อาการมักจะเป็น ๆ หาย ๆ
น้ำหนักตัวมาก ทำให้เวลาเดินพังผืดฝ่าเท้าใช้งานมาก
ออกกำลังกายหนัก ส่วนมากพบได้ในนักกีฬาที่ใช้เท้าตลอด เช่น นักวิ่งมาราธอน
ทำงานที่ต้องยืนหรือเดินนาน ๆ หรือการสวใส่รองเท้าเฉพาะแบบ เช่น ครู ทหาร ตำรวจ ทำงานที่ต้องใช้รองเท้าส้นสูง
อาการและอาการแสดงของรอง-ช้ำ
เจ็บส้นเท้า บางคนเจ็บที่พังผืดฝ่าเท้าบริเวณอุ้งเท้าร่วมด้วย
ส่วนใหญ่เป็นข้างเดียว บางคนก็เป็นทั้งสองข้าง แต่ข้างหนึ่งมักจะมีอาการมากกว่า
อาการปวดมีลักษณะแปล๊บ ๆ จี๊ด ๆ
อาการมักเป็นตอนเริ่มเดิน เช่น ตอนตื่นนอนมาเดินก้าวแรก ๆ หรือหลังจากนั่งประชุมนาน ๆ นั่งรถไกล ๆ แล้วเริ่มต้น
พอเดินไปสักพักอาการปวดจะค่อย ๆ ดีขึ้นไปเอง
เดินหรือวิ่งขึ้นลงบันไดหรือที่ชันอาการจะเป็นมากขึ้น
การรักษา
1. รับประทานยา ถ้ามีอาการปวดมากมักจะได้รับยาแก้อักเสบ เพื่อช่วยลดอาการปวด อักเสบ
2. การบริหารร่างกาย
– ยืดพังผืดฝ่าเท้า โดยยกขาข้างที่เจ็บขึ้นนั่งท่าไขว่ห้าง ใช้มือข้างเดียวกับขาที่ยกกระดกข้อเท้าและนิ้วเท้าขึ้น ให้ปลายเท้าชี้ไปทางหัวเข่า จะรู้สึกตึงขึ้นมาค้างไว้ 10 – 20 วินาที แล้วพัก ทำประมาณ 10 – 20 ครั้ง ตอนตื่นนอนและก่อนนอน
– ยืดน่องและเอ็นร้อยหวาย โดยนั่งเหยียดขาตรง ใช้ผ้าขนหนูหรือเข็มขัดคล้องปลายเท้าดึงให้ข้อเท้ากระดกขึ้น ค้างไว้ 10 – 20 วินาที ประมาณ 10 – 20 ครั้ง ตอนตื่นนอน และก่อนเข้านอน
– ยืดกล้ามเนื้อโคนขาด้านหลัง โดยนั่งเหยียดขาตรง เท้าชิดกัน ก้มตัวให้ได้มากที่สุด โดยที่เข่าไม่งอ ค้างไว้ 10 – 20 วินาที ประมาณ 10 – 20 ครั้ง ตอนตื่นเช้าและก่อนนอน
3. นวดแก้อาการรองช้ำ
เป็นรองช้ำแล้วออกกำลังกายได้ไหม
สามารถออกกำลังกายได้ ซึ่งมีข้อแนะนำ ดังนี้
1. ไม่ควรหักโหม ถ้ารู้สึกปวดส้นเท้าควรพักก่อน
2. เลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับชนิดกีฬา
3. ก่อนออกและหลังออกกำลังกายควรยืดเหยียดฝ่าเท้า น่อง และกล้ามเนื้อโคนขาให้ดีก่อน
ทำความรู้จักกับสมุนไพรน่ารู้
สมุนไพรที่มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวดเมื่อย ทำให้เส้นเอ็นหย่อน และเป็นยาบำรุงเส้นเอ็นภายในร่างกาย แก้เส้นเอ็นพิการ เป็นที่นิยมและรู้จักกันดี สมุนไพรตัวนี้คือ เถาเอ็นอ่อน
ชื่ออื่น ตีนเป็ดเครือ เครือเจน เครือเถาเอ็น เมื่อย หมอนตีนเป็ด หญ้าลิเลน
สรรพคุณ ใช้ เถา ต้มดื่มบำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง แก้เส้นเอ็นพิการ เส้นแข็ง แก้ปวดเมื่อยเส้นเอ็น แก้ขัดยอก ทำให้คลายการตึงตัว เป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในสูตรยาอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยใช้เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมจากสูตรยาอบสมุนไพรหลัก เมื่อต้องการอบเพื่อรักษาอาการปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว เป็นต้น
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เถาเอ็นอ่อนมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ ฤทธิ์คอนโดรโพรเทคทีฟ และมีการศึกษาทางคลินิดชี้ให้เห็นว่าเถาเอ็นอ่อนมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้กับผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อม